เรื่องจิตกับใจ
๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๐
ในโอกาสต่อไปนี้ อาตมาจะได้แสดงพระธรรมเทศนาซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า สำหรับตัวอาตมาเองนั้นก็ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนทางปริยัติเท่าใด แต่ก็คงจะพูดให้พวกพระเณรตลอดจนผู้ปฏิบัติข้าใจได้ เพื่อให้นำไปเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป
วันนี้จะขอพูดเกี่ยวกับเรื่องจิตกับใจ ซึ่งก็เป็นเรื่องเก่าๆ ที่พูดมามากแล้ว แต่เป็นสิ่งที่สำคัญมากเกี่ยวกับจิตและใจนี้ ก็ขอให้พวกท่านจงสำรวมและตั้งใจฟัง
มีปัญหาถามกันว่า คำว่า จิต กับ ใจ นั้นต่างกันอย่างใด? ถ้าเราจะตอบว่าเป็นคนละอย่างก็ได้ หรือเราจะตอบว่าเป็นอันเดียวกันก็ได้เช่นกัน เพราะจิตและใจนี้เป็นของเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน
คำว่า ใจ มาจาก มนะ แปลว่า รู้ คือเมื่อร้อนก็รู้ว่าร้อน หนาวก็รู้ว่าหนาว สุขหรือ
ทุกข์ก็รู้ว่าสุขหรือทุกข์ ใจนี่แหละเป็นผู้ที่รับรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง
คำว่า จิต แปลว่า นึกคิด คือนึกคิดไปตามสภาพต่างๆ เป็นอาการของใจ

อะไรที่เป็นสิ่งที่นึกคิด? ถ้าไม่มี ความรู้ แล้ว เราจะนึกคิดได้อย่างไร เช่น ตุ๊กตา เป็นต้น ถ้าไม่มีใจ ก็หมายความว่าไม่มีความรู้ เมื่อไม่มีความรู้แล้ว ก็จะไม่มีอาการนึกคิด
คำว่า จิต นี้แยกได้เป็น ๒ ประเภท
๑. จิตแท้ใจเดิม เป็นจิตใจที่เป็นประธาน
๒. จรณะจิต คือจิตที่เกิดจากจิตใจเดิม
๑. จิตแท้ใจเดิม หรืออจิตที่ป็นประธานนี้ ท่านเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อมตธรรม
อมตธรรมนี้เป็นธรรมที่ไม่ตาย จะต้องไปสร้างภพสร้างชาติอีกต่อไป
๒. จรณะจิต คือ จิตที่เกิดจากจิตแท้ใจเดิม พระพุทธเจ้าท่านยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
บางคนพูดว่า “ตายแล้วสูญ” เราลองมาพิจารณาดูว่าจะจริงเท็จอย่างไร?
กล่าวคือพระพุทธเจ้าของเราท่านตรัสไว้ว่า “เราตถาคตใช้เวลาในการสร้างบารมีที่จะสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่ชาติแรกที่ปรารถนาพุทธภูมิ (ปรารถนาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า จนกระทั่งชาติสุดท้ายที่เกิดเป็นสิทธัตถราชกุมาร และในที่สุดก็ออกบวชจนสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมตามความปรารถนานั้น รวมเวลาที่ต้องเสวยชาติเป็นทั้งมนุษย์และสัตว์ทั้งสิ้น ๔ อสงไขยแสนมหากัป”
เราท่านทั้งหลายจงพิจารณาดูว่า ในเวลาที่พระพุทธเจ้าสร้างบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนมหากัปนั้น ก็เป็นเวลาของจิตที่ไม่ตายหรือจิตแท้ใจเดิมหมุนเวียนไปเกิดตามสภาพต่างๆ กันนั่นเอง และในชาติที่พระองค์ตรัสรู้นั้น ก็เพราะจิตดวงที่ปรารถนาพุทธภูมิในชาติแรกนั่นแหละที่มาตรัสรู้ นี่ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นชัดแล้วว่าจิตแท้ใจเดิมนั้นไม่สามารถตายไปได้ จะต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอยู่จนกว่าเราท่านทั้งหลายจะสิ้นจากอาสวะกิเลส หรือเราจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็เรียกว่า “ตายแล้วไม่สูญ”
คนเราจะดีได้นั้นก็เพราะจิตใจเราพาดี หรือคนเราจะชั่วก็เพราะจิตใจพาชั่ว
ถ้าจิตใจเป็นบุญเป็นกุศลแล้ว บุคคลนั้นก็จะเป็นบุญกุศล
ถ้าจิตใจเป็นบาปอกุศลแล้ว บุคคลนั้นก็จะเป็นบาปอกุศล
เมื่อชายหรือหญิงที่เกิดมาแล้ว จะมีรูปลักษณะหรือความเป็นอยู่อย่างไร จิตก็จะต้องมีลักษณะอย่างนั้นมาก่อน เช่น คนที่มั่งมีทรัพย์สมบัติในซาติปัจจุบัน ก็
จิตนั้นมั่งมีมาก่อน คำว่า “จิตมั่งมี” หมายความว่า จิตมีบุญมีกุศล มีสติปัญญาดี
อันเป็นคุณสมบัติของจิตใจ
ท่านเจ้าคุณอุบาลี1 ท่านแสดงว่า “เมื่อผู้ปฏิบัติเห็นจิตที่เป็นประธาน จิตที่ไม่ตายนี้แล้ว จะไปยึดถือว่าเป็นคนเป็นตัวก็ไม่ชอบ แต่จะถือว่าจิตดวงนั้นเป็นเพียงสังขารธรรมชาติ”
ธรรมดาแล้วจิตของคนเราจะชอบยึดถือในสมบัติวัตถุต่างๆ ดังนั้นจึงจะให้ข้อคิดกับบรรดาผู้ที่ชอบยึดถือในสมบัติ เพื่อให้เป็นคติไปพิจารณาดู
คำว่า อุปาทาน ที่แปลว่ายึดถือ
เมื่อเราถือว่าเป็นเราแล้ว ก็จะต้องถือว่าเป็นเขาด้วย อันนี้ท่านเรียกว่า สักกายทิฏฐิที่เรายึดในสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเราเป็นเขา ทรัพย์สมบัติ สามีภรรยา ฯลฯ นั้น เราลองพิจารณาดูว่าเราจะได้เป็นเจ้าของในสิ่งเหล่านั้นจริงหรือไม่
แต่สำหรับพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านปฏิเสธ ท่นว่า “โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีสมบัติอะไรเป็นของๆ ตน”
หรืออย่างที่ท่านอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ท่านกล่าวว่า “สมบัติของโลก ไม่ใช่ของเราไม่ใช่ของเขา มีแต่ความตายหนีจาก” คือไม่มีใครที่สามารถจะเอาสมบัติต่างๆ ไปได้เมื่อเราตายไปแล้ว
นี่แหละบรรดาสิ่งสมมุติที่เราไปยึดถือว่าเป็นสิทธิ์ของเรานั้น ก็จะได้เพียงชีวิต
หนึ่งๆ เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสามี ภรรยา หรือสมบัติต่างๆ เมื่อเราตายไปแล้ว เราจะยึดถือเป็นกรรมสิทธิ์ของเราอีกไม่ได้ เราจะเอาสิ่งต่างๆ เหล่านั้นติดตามไปสวรรค์ นรกหรือที่ไหนๆ ก็ไม่ได้ ตรงกับคำที่ว่า “สมบัติของโลกก็ต้องอยู่ในโลก”
พระพุทธเจ้าท่านแสดงว่า “บุญกุศลกรรมและบาปอกุศลกรรม ของสองอย่างนี้แม้เราอยากได้หรือไม่อยากได้ก็ตาม เมื่อเราได้กระทำอะไรลงไปแล้ว ผลของการกระทำจะติดตามเราไปไม่ว่าจะเป็นในนรกหรือบนสวรรค์ก็ตาม หรือภพไหนโลกไหนก็ตาม”
คำว่า “เรา” ในที่นี้หมายถึงจิตแท้ใจเดิม ท่านจึงว่า “จิตใจ” นี้สำคัญมาก
แต่คนเราทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนสุขหรือคนทุกข์ โดยส่วนมากแล้วก็จะผลกรรมเก่าที่ตนได้รับอยู่ในปัจจุบัน คือ บรรดาลาภ ยศ ทรัพย์สมบัติ พวกเราไม่ยอมคิดถึงเหตุที่มาของสิ่งเหล่านี้ว่าสิ่งเหล่านี้มาได้อย่างไร
คำว่า “ผลกรรม” นี้ เปรียบเทียบได้กับผลไม้ บรรดาผลไม้เหล่านั้นถ้าไม่มีต้นเสียแล้ว ก็จะไม่สามารถมีผลออกมาได้ ฉันใดก็ฉันนั้นผลกรรมต่างๆ ก็จะต้องมีสาเหตุถึงได้มีผลกรรมออกมให้เราท่นด้เสวยกันอยู่ ถ้าเรามัวแต่ยึดถือในสิ่งต่างๆเหล่านั้น ไม่ยอมใช้ปัญญาพิจารณาในเหตุผลแล้ว ต่อไปเมื่อผลกรรมเก่าที่เรามัวแต่กินหมดไป แล้วเราจะเอาะไรเหลืออยู่อีก จุดนี้ก็ให้เป็นคติอีกอย่างหนึ่ง
ธรรมที่นำมาแสดงนี้ ก็มีเจตนาจะพูดเรื่องจิตกับใจเป็นหลัก เพื่อที่ท่านทั้งหลายจะได้นำไปคิดและเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป เอวัง