กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการจัดเป็นกายกรรม ๓ อย่าง
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี คือ ละจากการฆ่าสัตว์
๒. อทินนาทานา เวรมณี คือ ละจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้
๓. กามสุมิจฉาจารา เวรมณี คือ ละจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
จัดเป็นวจีกรรม ๔ อย่าง
๑. มุสาวาทา เวรมณี คือ ละจากการพูดเท็จ คำไม่จริง
๒. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี คือ ละจากการพูดส่อเสียด
๓. ผรุสาย วาจาย เวรมณี คือ ละจากการพูดคำหยาบ
๔. สมุผปุปลาปา เวรมณี คือ ละจากการพูดเพ้อเจ้อ
จัดเป็นมโนกรรม ๓ อย่าง
๑. อนภิชฺฌา คือ เป็นผู้ไม่โลภมากอยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน
๒. อพยาปาท คือ เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท ไม่จองเวรไม่เบียดเบียนผู้อื่น
๓. สมฺมาทิฏฐิ คือ เป็นผู้ที่เห็นชอบตามทำนองคลองธรรม เรื่องของบาป บุญ
อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ นั้น ก็คือข้อตรงข้ามกับกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ดังนั้นก็จะขออธิบายดังต่อไปนี้
๑. ปาณาติปาตา คือ การฆ่าสัตว์
๒. อทินฺนาทานา คือ การขโมยของผู้อื่น
๓. กาเมสุมิจฉาจารา คือ การประพฤติผิดในกาม
๔. มุสาวาทา คือ การพูดโกหก
๕. ปิสุณาวาจา คือ การพูดจาส่อเสียด
๖. ผรุสวาจา คือ การพูดคำหยาบ
๗. สมฺผปฺปลาป คือ การพูดเพ้อเจ้อ
๘. อภิชฺฌา คือ อยากโลภเอาของผู้อื่น
๙. พยาบาท คือ การจองเวรผู้อื่น
๑๐. มิจฺฉาทิฎฺฐิ คือ การเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม ไม่เชื่อในเรื่องของบาปบุญ
ในที่นี้จะอธิบายเฉพาะข้อที่ ๕, ๖, ๗ เพราะเป็นข้อที่พวกเราระวังได้ยาก และอีกประการ ข้อที่ ๑, ๒, ๓, ๔ ก็อยู่ในศีลข้อ ๕ หมดแล้ว พวกท่านทั้งหลายก็คงจะเข้าใจกันดีอยู่แล้ว ส่วนข้อที่ ๘, ๙. ๑๐ นั้น จะได้อธิบายในโอกาสต่อไป

ปิสุณาวาจา คือ การพูดส่อเสียด การพูดส่อเสียดนี้ แม้แต่จะเป็นเพียงเจตนาเป็นมูลเหตุ ในที่นี้ก็ถือว่าเป็นการพูดส่อเสียดแล้วการที่เราพูดให้ผู้ที่มีคุณธรรมน้อยเกิดแตกแยกกัน เราก็มีโทษน้อย ถ้าเราพูดให้ผู้มีคุณธรรมมากแตกแยกกัน เราก็มีโทษมาก การพูดจาส่อเสียดหรือยุยงนี้ร้ายแรงมากเพราะเหตุใด ก็เพราะว่าทำลายความสามัคคี ลองคิดเอาดูเถิด คนเรารักกันดีๆ ช่วยเหลือซึ่งกันดีๆ อยู่ด้วยกันดีๆ เมื่อมีคนอื่นมายุยงให้แตกแยกจากกัน เกลียดชังกัน เลิกช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มันร้ายขนาดไหนก็ลองพิจารณาดูเถิดในทางพระศาสนาแล้ว ผู้ที่ทำลายสงฆ์ให้แตกแยกกัน พระพุทธเจ้าท่านปรับโทษอย่างหนัก และเมื่อเขาตายไปแล้ว นรกก็จะเป็นที่ไปของเขาความสามัคดีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนี้ เป็นสิ่งที่จำเป็นและปรารถนาในหมู่กัลยาณชนทุกประเภท ถ้าใครก็ตามที่ยังบังอาจพูดทำลายความสามัคคี ยุยงให้แตกร้าวจากกันดังกล่าวมาแล้วนั้น จงถือว่าบุคคลนั้นเป็นคนเลวร้ายที่สุด ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ฉลาดรู้จริง จึงควรระมัดระวังคำพูดเป็นอย่างยิ่ง แม้จะเห็นว่าคำพูดคำนั้นจะเป็นความจริงก็ตาม แต่เมื่อเราพูดออกไปแล้วคนเขาจะต้องแตกแยกกัน

ผรุสวาจา คือ การพูดคำหยาบ คำที่ว่าพูดหยาบนี้ ตามหลักท่านว่า ” วาจาใดที่ทำให้ตนเองบ้าง ทำให้ผู้อื่นบ้าง ไม่สบายหูไม่สบายใจ วาจานั้นถือว่าเป็นวาจาที่หยาบ” วาจาที่หยาบนี้ไม่ใช่แต่มนุษย์เราเท่านั้นที่ไม่ชอบ แม้แต่สัตว์เดรัจฉานเองก็ยังไม่ชอบขอสรุปความว่า คำหยาบ คือ คำที่พูดออกมาจากจิตใจที่หยาบ หรือบางคนที่มีนิสัยอ่อนน้อมถ่อมตนดีอยู่แล้วนั้น แต่ถ้าได้ยินคำหยาบหรือคำด่าเป็นประจำบ่อยๆ เขาก็จะกลายเป็นคนที่พูดคำหยาบที่ละน้อย จนในที่สุดก็จะกลายเป็นคนพูดคำหยาบคายพอๆ กันกับคนที่เคยพูดคำหยาบมาก่อนให้สังเกตดู ลูกสะใภ้ที่ถูกเขาดุด่ทุกวันเถอะ เมื่อเขาด่ามาก็ด่าตอบไป ก็เพราะโทสะความโกรธ ทำให้ใจแข็งกล้า ปากก็เลยแข็งกล้าตามไปด้วย พระพุทธเจ้าท่านทรงตรัสไว้ว่า “ท่านจงอย่าพูดคำหยาบกับใครทั้งนั้น เพราะเมื่อท่านว่าเขา เขาก็จะตอบท่านบ้างเหมือนกัน”คำหยาบนั้นต้องมาจากเจตนาที่หยาบ ถ้าเจตนาไม่หยาบ แม้ผู้พูดจะพูดหยาบ ท่านไม่จัดเข้าเป็นคำหยาบ เพื่อที่จะให้เข้าใจได้แจ่มแจ้ง ขอนำตัวอย่างมาเล่าให้ฟัง ยังมีเด็กชายคนหนึ่งดื้อดึง ไม่เชื่อถ้อยคำของพ่อแม่ที่ห้ามไม่ให้ไปเที่ยวในป่า แม่หมดหนทางที่จะห้ามได้ แม่จึงพูดไปว่า “ไป๊ ขอให้แม่ควายดุจงไล่มึงเถอะ” เมื่อเด็กคนนั้นไปถึงป่แล้ว ก็ได้พบกับแม่ควายจริงๆ เด็กจึงทำสัจจกิริยาขึ้นว่า “แม่ของเรากล่าวคำใด คำนั้นจงอย่ามีอย่าเกิดขึ้นเถิด แม่เราคิดสิ่งใดด้วยใจ สิ่งนั้นจงเกิดจงมีขึ้นเถิด” แม่ควายตัวนั้นจึงหยุดอยู่กับที่เหมือนกับผูกเอาไว้ เรื่องนี้แสดงว่า แม่ของเด็กนั้น แม้จะดุสาปแช่งก็เพียงแต่ปากเท่านั้น ใจหาได้คิดไปอย่างนั้นไม่ ถ้าฟังแต่คำพูดก็รู้สึกว่าหยาบ แต่ที่จริงหาได้หยาบไม่ เพราะใจไม่หยาบ ขอให้ท่านจงเข้าใจตามนี้

สมฺผปฺปลาป คือ การพูดเพ้อเจ้อ คำว่า พูดเพ้อเจ้อ นี้ ท่านหมายถึงบุคคลใช้วาจาใดพูดออกไปทำให้เสียประโยชน์ วาจาที่พูดนั้นเรียกว่า สมฺผปฺปลาปวาจา
คนไทยเราแปลคำนี้ไว้หลายอย่าง เช่น พูดเพ้อเจ้อ พูดสำราก พูดไร้ประโยชน์เป็นต้น ส่วนปราชญ์ท่านแปลไว้ว่า ได้แก่ พูดทำให้เสียประโยชน์ทั้งที่เจตนาพูดออกมา จงใจ หรือให้ไร้ประโยชน์เสีย เหล่านี้จัดเข้าในพวกนี้ทั้งนั้น โทษที่จะได้รับนั้นท่านว่า ถ้าพูดจนเป็นนิสัยก็มีโทษมาก แต่ถ้าพูดบางคราวก็มีโทษน้อย
การพูดประเภทนี้มีหลายลักษณะ เช่น ฝอยเต็มไปหมดไม่มีชิ้นดี พูดชวนให้สนุกเฮฮาทั้งผู้พูดและผู้ฟัง มีแต่ไร้ประโยชน์ทั้งนั้น ทำให้เสียเวลาในการทำมาหากินและการเล่าเรียน หรือการประพฤติปฏิบัติธรรม เหล่านี้ล้วนจัดในข้อนี้ทั้งสิ้น
เรื่องของกุศลกรรมบถ ๑๐ นี้ ขอให้ท่านจงจดจำให้ได้ และพิจารณาความหมายให้ตลอดให้แจ่มแจ้งชัดใจ ถ้าเราไม่เข้าใจในความหมายแล้วก็จะไม่เกิดประโยชน์เลย
เรื่องของกุศลกรรมบถ ๑๐ นี้ มีทางที่จะเกิดได้ ๓ ทางคือ
๑. เกิดทางจิตอย่างเดียว
๒. เกิดทางกายกับทางจิต
๓. เกิดทางวาจากับทางจิต
ไม่ว่าเราจะล่วงละเมิดในศีลข้อใดก็ตาม จะต้องเป็นทางจิตประกอบเข้าไปด้วยทุกข้อ ที่เป็นเช่นนี้เพราะ จิตเป็นตัวศีล หรือว่า เจตนาเป็นตัวศีล ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะจิตเป็นผู้งดเว้นในองค์ศีลต่างๆ จึงจะเป็นศีลนั้นๆ
อานิสงส์ของการรักษาศีลกรรมบถ ๑๐ คือพระพุทธเจ้าตรัสแก่พราหมณ์ว่า
“ดูก่อนท่านทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายบางจำพวกในโลกนี้ที่เข้าถึงสุดติโลกสวรรค์”
นั้นได้ ก็เพราะปฏิบัติชอบ สำรวมรักษาศีลกรรมบถ ๑๐ ประการ เว้นจากอกุศลกรรมบถ๑๐ ประการ บริสุทธิ์ด้วยดีแล้ว”
“ดูก่อนท่านทั้งหลาย ถ้าบุคคลหญิงชายพึงปรารถนาหวังว่าเบื้องหน้าเราพึงข้าถึงพวกกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีมหาศาล เถิด” ข้อเหล่านี้จะเป็นไปได้ ถ้าเขาเหล่านั้นรักษาในศีลกรรมบถ ๑๐ ให้บริสุทธิ์ดังตามที่กล่าวมาแล้ว”
“ดูก่อนท่านทั้งหลาย ถ้าบุคคลชายหญิงประพฤติปฏิบัติดี สำรวมศีล ๕ กุศลกรรมบถ ๑๐ ละอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ด้วยความบริสุทธิ์แล้ว พึงปรารถนาหวังว่า เราพึงทำเจโตวิมุตติ และบัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว เข้าถึงอยู่ในชาตินี้เถิด” ข้อเหล่านี้สามารถที่จะเป็นไปได้ ก็เพราะว่าชายหญิงเหล่านั้นประพฤติปฏิบัติในศีล ๕ และกุศลกรรมบถ ๑๐ ตลอดจนอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี่เอง
ที่พูดมาในวันนี้ ก็คงจะเป็นข้อคิดให้ท่านทั้งหลายได้นำไปพิจารณาและนำไปปฏิบัติต่อไปเพื่อความเจริญก้าวหน้าของพวกท่านทั้งหลาย เอวัง