วิธีแก้นิมิต
๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑
วันนี้นับเป็นโอกาสดีที่ท่านทั้งหลายได้มีโอกาสบำเพ็ญบารมีเพิ่มขึ้นอีก คือการได้ฟังพระธรรมเทศนาซึ่งเป็นธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งการบำเพ็ญบารมีเช่นนี้ไม่ใช่เป็นของง่ายเท่าใดนัก เพราะฉะนั้นวันนี้จึงนับเป็นโอกาสอันดียิ่ง วันนี้ใคร่ขอพูดถึงเรื่องนิมิต
เมื่อผู้ปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา สามารถรักษาศีลให้สำรวมดีแล้ว การทำสมาธิภาวนาก็จะเป็นไปได้ง่าย แต่ถ้าผู้ปฏิบัติไม่สำรวมรักษาศีลให้บริสุทธิ์แล้วการทำสมาธิภาวนาก็จะเป็นไปได้ยาก ทำไมท่านจึงพูดไว้เช่นนั้น ก็เพราะว่าเมื่อเรารักษาศีลให้บริสุทธิ์แล้ว ก็เท่ากับว่าเป็นการปราบกิเลสอย่างหยาบได้แล้ว ดังนั้นเมื่อเราทำสมาธิควบคู่กันไปก็จะสามารถเป็นไปได้ง่าย
สำหรับการทำสมาธินั้น เราจะกำหนดพุทโธ..พุทโธ…พุทโธ เป็นอารมณ์ หรือจะเรียกว่าเอาพุทโธเป็นเป้าหมายก็ได้ หรือว่าเราจะกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ หรือเป็นเป้าหมายก็ได้เช่นกัน อันนี้แล้วแต่ว่าเราจะชอบอย่างไหนหรือถูกจริตกับสิ่งใด
เมื่อเรากำหนดสติของเราตั้งมั่นอยู่ที่ไหน จิตของเราก็ให้อยู่ที่นั่น เพราะสติเป็นเครื่องผูกเป็นเครื่องครอบงำเป็นเครื่องบังคับ นอกจากสติและความรู้แล้วไม่มีสิ่งไหนในโลกที่จะสามารถบังคับจิตให้สงบลงได้ เมื่อเราต้องการบำเพ็ญสมถะ เราต้องเจริญสติให้มากๆ
ถ้าเราจะกำหนดลมหายใจเข้าออก เราก็กำหนดลมหายใจที่มาสัมผัสที่ปลายจมูกหรือที่หัวใจ หรือที่ท้องน้อย หรือที่ลิ้นปี่ หรือที่ไหนก็ได้ แต่ให้กำหนดเอาไว้อยู่เพียงจุดเดียวเท่านั้น
การฝึกหัดทำสมาธิภาวนานี้ ในตอนแรกๆ จะทำได้ยาก มักจะมีอาการปวดเมื่อยตามแข็งตามขาหรือตามเอวตามหลัง ในตอนแรกๆ นี้จะต้องอาศัยความอดทน และต้องอาศัยความฝืนอยู่มากพอสมควร แต่เมื่อกระทำไปประมาณ ๒-๓ อาทิตย์ ก็จะรู้สึกเคยชิน อาการปวดเมื่อยต่างๆ ก็จะค่อยๆ หายไป เมื่อเรารู้สึกปวดเมื่อยแล้ว ท่านจึงแนะนำให้เราเปลี่ยนอิริยาบถจากการนั่งสมาธิไปเป็นการเดินจงกรม ซึ่งวิธีการกำหนดใจในขณะเดินจงกรมนั้น ก็เหมือนกับเรากำหนดเวลาที่เรานั่งสมาธินั่นเองเพียงแต่ต่างจากการนั่งไปเป็นการเดินเท่านั้น
ในบางครั้งเมื่อเราทำสมาธิได้แล้ว ขณะที่จิตรวมวูบลงไป ร่างกายของเราก็จะเกิดเห็นเป็นซากศพที่มีสภาพเหมือนกับว่าเพิ่งจะขุดขึ้นมาจากหลุมศพ แต่จริงๆ แล้วร่างกายของเราไม่ได้เป็นเช่นนั้น เมื่อเราถอนจิตออกมาก็จะเห็นเป็นตัวคนธรรมดา อาการที่เรา
เห็นเป็นซากศพเช่นนี้ ท่านเรียกว่า “อสุภนิมิต” ถ้าเราเคยได้ยินครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอนในเรื่องของอสุภนิมิตนี้แล้ว เราก็ทำความรู้เท่าทัน
อสุภนิมิตนี้ ถ้าเกิดบ่อยๆ จะเป็นการดีมาก ท่านอาจารย์ใหญ่ (หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต) ท่านนิยมมาก ถ้าพระเณรองค์ใดได้อสุภนิมิต ร่างกายเน่าเปื่อยเป็นซากศพแล้ว ท่านว่าผู้นั้นจะสามารถที่จะบรรลุธรรมได้ง่าย
อสุภนิมิตนี้ไม่ใช่เป็นของร้าย เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วถ้าเราอดกลัวไม่ได้ ก็ให้เราลืมตาเสีย ตั้งสติให้มั่น ขออย่างเดียวอย่าลุกวิ่งหนี ถ้าเราเคยได้ยินได้ฟังคำแนะนำอย่างนี้แล้ว เมื่อเวลาที่เกิดอสุภนิมิตก็จะระลึกได้อยู่หรอก แต่ถ้าเราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน เมื่อเวลาที่เกิดขึ้นก็จะเกิดความกลัว ถ้าเราลุกวิ่งหนีก็จะทำให้เราเสียสติได้การลุกขึ้นวิ่งหนีนี้ ขอห้ามโดยเด็ดขาด การที่เกิดอสุกนิมิตนี้เรียกว่า “มีพระธรรมมาแสดงให้เราได้รู้ได้เห็นว่าร่างกายของเราเป็นอย่างนี้ ย่อมมีความเจริญในเบื้องต้น ความชราในเบื้องกลาง และก็มีการแตกสลายไปในที่สุด”
เมื่อเวลาที่เกิดอสุภนิมิตขึ้น ถ้าเราสามารถทนได้นับว่าเป็นการดีมาก เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณามาก สิ่งเหล่านี้เรียกว่าเป็น นิมิตภายในตัวเรา
แต่ในบางครั้งก็เกิดเป็น นิมิตภายนอก เช่น ในบางครั้งเกิดเห็นเป็นพระพุทธเจ้าหรือบรรดาครูบาอาจารย์มาปรากฏให้เห็น หรือเห็นเป็นพวกวัตถุ เช่น โบสถ์ วิหาร หรือสิ่งต่างๆ นิมิตภายนอกนี้เรียกว่า “อุดคหนิมิต”
เรื่องของนิมิตเป็นเรื่องที่สำคัญ ในบางครั้งก็มาทำท่าแลบลิ้นปลิ้นตา ก็อย่าไปเข้าใจว่าเป็นเปรตเป็นผี ที่จริงแล้วเป็นเพราะว่าสังขารภายในมันฉายออกไปเพื่อหลอกใจของเราเอง มันฉายออกไปจากใจนี่แหละ อันนี้พูดเตือนสติไว้
ผู้ปฏิบัติบางคนก็เกิดนิมิตมากจริงๆ แต่บางคนก็เกิดนิดหน่อย ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่าอุปนิสัยและวาสนาบารมีที่เราได้กระทำมาตั้งแต่ชาติหนหลัง
การทำสมาธิภาวนานี้ ถ้าบุคคลใดเกิดนิมิตมาก ก็อย่ได้ไปเกิดความกลัวจนกระทั่งเลิกปฏิบัติ ขอให้ปฏิบัติต่อไป โดยให้สติตั้งมั่นกำหนดรู้อย่างที่แนะนำมาแล้วเมื่อเราทำต่อไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดอานิสงส์ คือถ้าเป็นคนมีนิสัยดุร้าย จะเป็นคนใจดี ถ้าเป็นคนโกรธง่าย ก็จะค่อยๆ เบาบางลง ถ้าเป็นคนปัญญาทึบ เมื่อทำจิตสงบได้แล้ว ก็จะกลายเป็นคนที่ฟังอะไรรู้เรื่องเข้าใจในเหตุผล ถ้าเป็นคนที่ฉลาดอยู่แล้ว ก็จะเพิ่มพูนปัญญาให้มากขึ้นไปอีก ท่านจึงว่ามีอานิสงส์มาก

ขณะที่เราเกิดเห็นนิมิตขึ้นมา ถ้าเราแก้ความกลัวในนิมิตได้ ต่อไปก็จะสบาย เมื่อเราเกิดความกลัวขึ้น เราอย่าไปยึดถือสิ่งที่เราเห็นในนิมิตเป็นตนเป็นตัว เป็นเราเป็นเขา ให้กำหนดรู้ว่าเป็นมาร ซึ่งพระพุทธเจ้าเรียกว่า “ขันธมาร” หรือ “กิเลสมาร”
เราลองคิดดู พระพุทธเจ้าเองท่านยังมีมารมาคอยรังควาน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะบาปอกุศลที่ได้กระทำมาในแต่ละภพแต่ละชาติได้ตามมากีดกันไม่ให้เราได้ทำความดี เกรงว่าเราจะหลุดพ้นจากอำนาจของเขา ขอให้พวกเรานักปฏิบัติทั้งหลายจงรู้เท่าทันในสิ่งเหล่านี้ไว้
กิเลสมารหรือขันธมารเหล่านั้น อย่าให้เราไปยึดเป็นตนเป็นตัว เป็นเราเป็นเขาให้กำหนดเอาผู้รู้ ผู้รู้ก็คือใจเรา สตีกับความรู้ให้เป็นอันเดียวกัน อย่าส่งไปตามอาการของนิมิตภายนอกที่เราปรากฎเห็น ให้เรารู้เท่าทันว่าสิ่งนั้นเป็นนิมิต ไม่ใช่เป็นของจริงตามที่เห็น ถ้าเรากำหนดรู้ไว้อย่างนี้สักพักหนึ่ง นิมิตเหล่านั้นก็จะหายไปเอง
เรื่องของนิมิตนี้จะเกิดหรือไม่เกิดไม่สำคัญ เพราะว่าการที่เราทำสมาธิภาวนาก็เพื่อมุ่งให้เกิดความสงบภายในจิตใจเท่านั้น ถ้าผู้ปฏิบัติสามารถทำจิตใจของตนให้สงบเป็นอารมณ์เดียวได้แล้วก็พอเท่านั้น ไม่มีนิมิตเกิดขึ้นก็ไม่เป็นไร
บางคนภาวนาเพื่ออยากเห็นสิ่งต่างๆ ความที่อยากเห็นสิ่งต่างๆ ไม่มีประโยชน์อะไรแก่จิตใจของเราเลย มีแต่กิเลสคือ “ความอยาก” คอยเผาจิตเผาใจเราอยู่อย่างเดียว
การภาวนา ท่านต้องการให้เราปราบกิเลสของเราเท่านั้น คือเห็นความโลภของตนเห็นความโกรธของตน เห็นความหลงของตน เห็นราคะตัณหาของตน เห็นมานะทิฏฐิของตน เมื่อเราเห็นกิเลสดังกล่าวแล้ว เราต้องวางแผนทำลายกิเลสของตนให้หมดสิ้นจากจิตใจของเรา สิ่งนี้จึงเป็นความรู้ความเห็นที่ถูกต้องตามหลักที่พระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงไว้
บางคนภาวนาไปอยากเห็นภาพต่างๆ เช่น นรก สวรรค์ เทวดา เป็นต้น การที่ได้เห็นสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีอะไรเปลก ที่ว่าไม่แปลกก็เพราะว่าเมื่อเราเห็นแล้ว กิเลสของเราก็ยังอยู่เหมือนเดิม บางคนแถมยังทำให้เกิดกิเลสเพิ่มมากขึ้นเสียอีกด้วย คือถือว่าตนเองเป็นผู้วิเศษที่สามารถเห็นสิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้ เลยไม่ยอมกราบไหว้ใครทั้งนั้น จนกลายเป็นสัคคาวรณ์ มัคคาวรณ์ ปิดกั้นทางมรรคทางผลทางนิพพานไปโดยปริยาย ความเห็นสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นความเห็นที่ผิดจากหลักของศาสนา
ส่วนความเห็นที่ถูกนั้น คือการเห็นจิตตามความเป็นจริง เห็นกายตามความเป็นจริง คือเห็นธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ของตนและของคนอื่น สักแต่ว่าเป็นธาตุไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา และเห็นว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าเราสามารถเห็นได้แบบนี้แล้ว เรียกว่า “เห็นกายตามความเป็นจริง”
ส่วนที่ว่าเห็นจิตตามความเป็นจริงนั้น ท่านถือสภาพรู้เป็นตัว ไม่ได้ถือเวทนา ๓
เป็นตัว เวทนา ๓ ก็คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา (ความไม่สุขไม่ทุกข์คือเป็นกลาง) สิ่งเหล่านี้ก็จะต้องเห็นเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีตนไม่มีตัวในเวทนา ๓ ถือแต่ความรู้เป็นตัว ถ้าเราสามารถเห็นได้แบบนี้แล้ว เรียกว่า “เห็นจิตตามความเป็นจริง”
ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย สิ่งที่ได้พูดมาในวันนี้ก็อยากจะเน้นเรื่องนิมิตเป็นใหญ่ เพราะในสมัยนี้มีลัทธิที่สอนกันผิดๆ อีกมาก ขอให้ผู้ปฏิบัติจงนำไปพิจารณาและปฏิบัติตามนี้ก็จะสมความมุ่งหวังทุกประการ