สติปัฏฐาน ๔
๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ฝึกหัดสติพิจารณให้รู้กายตามความเป็นจริง
๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ฝึกหัดสติกำหนดพิจารณาเวทนาคือความสุขความทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ (อุเบกขา) เพื่อให้รู้ตามความเป็นจริง
๓. จิตตานุปัสนาสติปัฏฐาน ฝึกหัดสติกำหนดพิจารณาจิตเพื่อให้รู้ตามความเป็นจริง
๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ฝึกหัดสติกำหนดพิจารณาธรรมเพื่อให้รู้ตามความเป็นจริง

สำหรับผู้ที่มาฝึกหัดปฏิบัติใหม่เพื่อเป็นแนวทางอบรมจิตใจให้สงบตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์เดียวที่เรียกว่า “สมถภาวนา” ระยะแรกผู้ฝึกหัดปฏิบัติใหม่จะต้องฝึกหัดอบรมทรมานจิตใจ ต้องใช้คำบริกรรมเพื่อเป็นเป้าหมายระลึกรู้ว่าจิตของเราระลึกพุทโธ พุทโธอยู่ภายในใจ หรือถ้ากำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ ก็เป็นจุดเป้าหมายเพื่อรู้ว่าจิตใจของเราอยู่กับลมหายใจเข้าออก
ด้วยเหตุผลนี้ ผู้ที่เข้ามาฝึกหัดปฏิบัติใหม่ ถ้าไม่ใช้คำบริกรรมภาวนาเป็นอารมณ์เสียก่อนแล้ว จะตั้งสติระลึกรู้อะไรเป็นอารมณ์เล่า แต่อันที่จริงฝึกหัดสติกำหนดกายเป็นอารมณ์ก็ได้เหมือนกัน เพราะเหตุว่าสติปัฏฐานสี่ก็มีกายกับใจเท่านั้นที่เป็นที่ฝึกหัดสติกำหนดรู้ส่วนของร่างกาย ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นต้น
บางท่านฝึกหัดตั้งสติพิจารณากายเป็นอารมณ์ เช่น กรรมฐานทั้งท้า มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นอารมณ์ อบรมจิตใจให้สงบเป็นสมาธิได้เหมือนกัน แต่ว่าวิธีฝึกหัดตั้งสติกำหนดพิจารณาร่างกายเป็นอารมณ์นี้ มีวิธีมากมายหลายอย่าง คือบางครั้งกำหนดลอกหนังเหมือนเราลอกหนังวัวหนังควายออกให้หมด แล้วจึงกำหนดพิจารณาตั้งแต่เท้าจนถึงศีรษะ ตั้งแต่ศีรษะลงมาเท้า ทั้งข้างหน้าและข้างหลัง ข้างซ้ายและข้างขวา หรือบางคราวสมมุติเอาน้ำมันก๊ดเทรดศีรษะไหลลงมาถูกเสื้อผ้าชุ่มลงไปหมด แล้วกำหนดจุดไม้ขีดไฟจุดให้ลุกไหม้ และต่อไปกำหนดลอกหนังอย่างที่แนะมาแล้ว หรือบางครั้งในเวลาเดินจงกรม ก็สมมุติว่ามีคนเอามีดมาสับฟันตัวเราจนเลือดไหลอาบแดงไปทั้งตัว เสื้อผ้าก็เปียกโซกไปด้วยเลือด ทางเดินจงกรมก็แดงไปหมด
เมื่อกำหนดสมมุติได้อย่างนี้แล้ว ก็กำหนดเพ่งพิจารณาเหมือนอย่างที่แนะมาเบื้องต้น หรือในบางโอกาสก็ให้กำหนดแยกส่วนโดยแบ่งส่วนของร่างกายออกเป็นส่วนๆ เช่น ธาตุดินก็แยกออกเป็นส่วนดิน ธาตุน้ำก็แยกออกเป็นส่วนน้ำ ธาตุลมก็แยกออกเป็นส่วนลม ธาตุไฟก็แยกออกเป็นส่วนไฟ หรือในบางโอกาสก็กำหนดให้เราเจ็บไข้ไม่สบายจนรักษาไม่หายและก็ตายในที่สุดที่เขาเรียกว่า “ศพ” ตามธรรมดาเขาจัดการทำอย่างไรบ้างก่อนที่เขาจะเอาไปจุดไฟเผา ให้กำหนดพิจารณาเพ่งไปโดยตลอดถึงเวลาที่เขาจะจุดไฟเผา ก็ให้กำหนดพิจารณาเหมือนกับเราเพ่งกำหนดศพผู้อื่น
ตัวอย่างต่างๆ ที่ให้เรากำหนดพิจารณานี้ ท่านเรียกว่า “อสุภสัญญา” ถ้าเรานึกสัญญาอย่างไรก็ปรากฏอย่างนั้นไม่ลบเลือน ยังเป็นสัญญาที่ติดตาเราอยู่ ท่านเรียกว่า “อุคคหนิมิต” เมื่อจิตสลดและสังเวชในการกำหนดพิจารณานี้แล้ว ก็จะละวางอารมณ์ภายนอกได้เด็ดขาดจิตก็จะรวมเป็นสมาธิได้ง่าย
และอีกอย่างหนึ่ง “อสุภสัญญา” อย่างที่แนะนำมานี้ เป็นอุบายวิธีแก้จิตเพื่อให้จิตละวางอารมณ์หยาบ ธรรมดาของจิตสามัญชนเราท่านจะชอบคิดไปตามรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธัมมารมณ์ ตามประเพณีที่ชาวโลกนิยมกัน จึงต้องมีอุบายที่ไว้แก้จิตที่เรียกว่า “เปลี่ยนอารมณ์ใหม่” ให้จิตนึกคิดพิจารณาเปลี่ยนเหมือนเปลี่ยนสิ่งของให้เด็กทารกเล่นฉันนั้น
อีกประการหนึ่ง วิธีกำหนดพิจารณากายนี้ แล้วแต่ใครจะมีปัญญาอุบายอย่างไรชอบอย่างไร ก็ให้กำหนดรู้ไปตามนโยบายของเราอย่างนั้น ส่วนวิธีการหรืออุบายที่ครูบาอาจารย์ยกตัวอย่างนั้น ก็เป็นแนวทางที่ท่านปฏิบัติมาเท่านั้น ส่วนสมาธิ จิตจะรวมแน่วแน่ สติติดตามจิตเข้าสู่ภวังค์และรู้สึกเป็นสุขสบายจริงๆ ก็ต้องอาศัยสติและปัญญาอีกด้วย