วิปลาส

๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๕

พวกเราท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย เราต้องคอยแสวงหาครูบาอาจารย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้ เพราะการภาวนนั้นใช่ว่าจะไม่สามารถที่จะกิดโทษได้ ที่พูดเช่นนี้เพราะบางครั้งเราอาจจะเดินทางผิดก็ได้ เมื่อเราผิดแล้วหรือสงสัยว่าจะถูกหรือผิด เราต้องรีบไปหาครูบาอาจารย์ที่สามารถจะช่วยชี้แนะเราได้ บางครั้งการภาวนาก็สามารถที่จะทำให้เกิดสัญญาวิปลาส คือความคิดที่เห็นผิดจากความเป็นจริง ในหลักท่านเรียกว่า “มิจฉาทิฏฐิ”

การที่เราจะเริ่มหัดภาวนา ในเบื้องแรกเราจะต้องเข้าหาครูบาอาจารย์ที่ท่านฉลาด ท่านที่เคยผ่านอุปสรรคเหล่านี้มาแล้ว เพราะเมื่อเวลาที่เรามีปัญหา ท่านจะสามารถที่จะช่วยเราได้ถูกต้อง ท่านกล่าวว่า แม้อาจารย์ท่านใดจะได้สมาธิขนาดไหน ได้รับปีติความสุขอย่างขนาดไหน จะระลึกชาติได้สักกี่ชาติก็ตาม ถ้าไตรลักษณ์ยังไม่เกิดแล้วท่านก็ยังจัดเป็น “มิจฉาสมาธิ” เพราะว่าในชั้นนี้มักจะเดินทางที่ผิดเป็นส่วนมาก

จิตวิปลาส คือ ความเห็นที่ผิดจากความเป็นจริง ความคิดที่เห็นผิด เช่น คิดว่าของไม่เที่ยงสำคัญกว่าของเที่ยง ของที่เป็นทุกข์สำคัญกว่าสิ่งที่เป็นสุข

จะยกตัวอย่างให้ฟัง ในสมัยก่อนนั้นได้ข่าวท่านอาจารย์ “สงค์” ประกาศตนเองว่าตนสำเร็จอรหันต์ ท่านเจ้าคุณสมเด็จมหารีรวงศ์ ท่านจึงสั่งให้ท่านอาจารย์สงค์เข้าไปกรุงเทพฯ เพื่อที่ทำการสอบสวน

มหาเมฆได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ากรรมการสอบสวน มีคณะกรรมการร่วมด้วยหลายองค์ คณะกรรมการได้ถามเกี่ยวกับเรื่องพระธรรมวินัยหลายเรื่อง อาจารย์สงค์ได้แสดงเป็นภาคไปเลย ไม่มีการติดขัด พอสอบสวนเสร็จแล้วก็ให้ขังไว้ในกุฏิ ไม่ให้ออกบิณฑบาต ในที่สุดคณะกรรมการไม่สามารถที่จะสรุปได้ว่าเป็นจริงเท็จอย่างใด คณะกรรมการจึงไปกราบเรียนเจ้าคุณสมเด็จมหาวีรวงศ์

พอดีในระหว่างนั้น หลวงปู่มั่นท่านเข้าไปพักอยู่ที่วัดสระปทุม พวกคณะกรรมการจึงมากราบเรียนหลวงปูมั่นให้ช่วยพิจารณา เมื่อคณะกรรมการรายงานจบลง หลวงปู่มั่น

ท่านก็นั่งหลับตาไม่ถึงห้นาที ท่านก็ลืมตาขึ้นและชี้ไปที่อาจารย์สงค์ และว่า

“สงค์ ท่านเข้าสมาธิไม่มีอนุโลม มีแต่ปฏิโลม เข้าแล้วไม่ออก ตาท่านขวางแล้วนั่น”

พูดเพียงเท่านั้นเหละ อาจารย์สงค์ทำตาปริบๆ ก้มลงกราบที่เท้าหลวงปู่มั่น และว่า

“ผมนับถือท่านเป็นอาจารย์”

แก้กันเท่านี้เพราะท่านรู้วาระจิต ที่ว่าท่านอาจารย์สงค์เข้าสมาธิมีแต่ปฏิโลม คือเข้าแล้วไม่ออก ไม่มีอนุโลม ทำให้เกิดวิปลาสได้ นี่ยกตัวอย่างให้ฟัง

อีกเรื่องหนึ่ง มีแม่ชีคนหนึ่งแสดงบุพเพนิวาสระลึกชาติได้ พยากรณ์ตนเองแล้วก็ไปพยากรณ์บรรดาพระเณรว่าคนนั้นเคยเป็นลูกท่านเท่านั้นเท่านี้ชาติ เมื่อแม่ชีแสดงไป

อาจารย์ที่อยู่ด้วยหลงเชื่อไประยะหนึ่ง แต่พระเณรไม่ค่อยเชื่อเท่าใด ถ้าผู้ใดไม่เชื่อ อาจารย์ท่านจะดุเอา และว่า “อย่าไปดูหมิ่นเขา แม้เขาจะเป็นหญิง”

จนกระทั่งอยู่ต่อมา แม่ชีก็เกิดอาการแปลกๆ บางครั้งก็หัวเราะโดยไม่มีเหตุผลบางวันก็ร้องไห้ ท่านจึงจัดให้ท่านเจ้าคุณญาณฯ (อาจารย์สิงห์) อาจารย์ฝั้น ไปแก้ แมชีผู้นั้นจึงหายได้

การเรียนบำเพ็ญสมถะจึงจำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ เราจึงต้องรู้ไว้ว่าที่แห่งไหนมีครูบาอาจารย์อยู่บ้าง เพื่อว่าในอนาคตเราจะออกปฏิบัติเราจะได้รู้ไว้ ถ้าเป็นวิปลาสแล้วอยู่คนเดียวจะแก้ไขยาก

ในสมัยพุทธกาล ถ้าเป็นพระต้องให้ได้ ๕ พรรษาเสียก่อนจึงจะออกเด็ดเดี่ยวได้เรียกว่า “พันนิสัย” เมื่อออกไปแล้ว ถ้าเกิดไปเป็นอะไร ก็จะต้องกลับมาหาครูบาอาจารย์ที่เคยทรมานกันนั่นแหละจึงจะหายได้

คนที่ไม่มีครูบาอาจารย์ จะไม่ยอมแก้ไขอะไรง่ายๆ ดังนั้นจึงต้องกลับมาหาครูบาอาจารย์ที่เคยทรมานกันนั่นแหละ จึงว่าจะอยู่ห่างไกลก็จำเป็นต้องไป เพราะเป็น

เรื่องของการปฏิบัติ เมื่อจิตใจเป็นอย่างใดมีข้อสงสัยอย่างใด จะได้ไปศึกษากับท่านเสียก่อนที่จะผิด

อาตมาเกรงว่าในอนาคตอีก ๒๐ ปีข้างหน้า กลัวว่าจะหมดสมัยของครูบาอาจารย์ผู้ที่ชำนาญ เพราะการปฏิบัติตนของพระเณรในสมัยนี้ค่อนข้างจะหย่อนยาน และมักจะเดินทางผิด

กามสุขัลลิกานุโยด เป็นความผิดอย่างยิ่งของพระเณร เพราะยังติดอยู่ใน “กามสุข” คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ลาภสักการะ ยศ สรรเสริญ ยังหวั่นไหว้ในโลกธรรม เมื่อประสบสุขก็มักจะหลงสุข ประสบทุกข์ก็จะเสียใจ ได้รับสรรเสริญก็หลงสรรเสริญ สิ่งเหล่านี้เรียก โลกธรรม ๘ เรียกว่าผิดทาง

อัตตกิลมถานุโยค คือทรมานกายให้ได้รับความยากลำบาก อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญทุกรกิริยามาแล้ว แต่ในบางครั้งก็สามารถที่จะทำเป็นครั้งคราวได้เพื่อเป็นการทดลองกำลังใจของเราดู แต่จะต้องทำแล้วร่างกายไม่เหน็ดเหนื่อย ทำแล้วสบายกาย สบายใจ ตามหลักที่ว่า “สพฺพรส ธมฺมรโส ชินาติ” ผู้ใดได้ดื่มรสพระธรรมแล้ว ย่อมจะชนะรสทั้งปวง อันนี้แหละที่เป็นสิ่งที่ให้ต้องทดลอง

นี่ก็เห็นว่าพูดมาพอสมควร เอวัง

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *