ลักษณะของจิตรวม
๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๕
เมื่อจิตเริ่มรวมจะเกิดอาการต่างๆ เช่น มีความรู้สึกว่าเบามือทั้งสองข้าง ซาบซ่านตามร่างกาย ขนลุกขนพองคล้ายกับไปพบกับสิ่งที่น่ากลัว มีอาการตัวเบาหวิว บางคนเมื่อรู้ว่าจิตเริ่มจะรวม จึงคอยดูว่าจิตจะรวมอย่างไร จิตก็รวมไม่ได้ สมาธิก็ไม่เกิด อันนี้เป็นการกระทำที่ผิด
เมื่อเรารู้ว่าจิตของเรากำลังจะรวม ให้เรากำหนดผู้รู้นิ่งอยู่ สติกับใจอย่าให้เคลื่อนจากกัน อย่าให้สติเคลื่อนไหวไปตามอาการใดๆ เมื่อสติไม่เคลื่อนไปตามอาการใดๆ แล้วจิตก็รวมเอง บางครั้งก็รวมสนิทเลย เปรียบเหมือนเอาไม้ปักลงในน้ำที่ไหลเชี่ยว ปักให้นิ่งไว้ อย่าให้เคลื่อนไปตามน้ำ อย่าให้จิตเคลื่อนจากผู้รู้ ผู้ที่สามารถทำจิตรวมได้แล้วก็ให้กำหนดจิตตามเดิม กำหนดอย่างใดที่ทำให้จิตรวมได้ก็ให้กำหนดอย่างนั้น
ถ้าจิตรวมสนิทก็อย่าเพิ่งออกจากสมาธิเสียทีเดียว ก่อนออกจากสมาธิให้พิจารณาเสียก่อน เราจะได้ทราบว่าเราบริกรรมอย่างใด ตั้งสติอย่างใด ละวางอารมณ์สัญญาอย่างใด จิตของเราจึงรวมได้เช่นนี้ ถ้าเราสามารถพิจารณาถึงกรรมวิธีต่างๆ ได้ ก็จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติครั้งต่อไป
ขอย้ำอีกครั้ง กำหนดให้แน่วแน่ นิ่งอยู่กับผู้รู้ สติกับผู้รู้อย่าให้เคลื่อนไปตามกิริยาอาการใดๆ จิตก็จะรวมได้ก็เพราะสติอย่างเดียวเท่านั้น ตามปริยัติ สติ แปลว่าความระลึกได้ในกิจที่ได้กระทำแม้คำพูดทั้งในอดีตและปัจจุบัน
ในทางปฏิบัติ สติ แปลว่า ระลึกอยู่ในใจ ไม่ให้รู้ไปตามสิ่งอื่น ถึงจะมีสัญญาอะไรก็ไม่ให้เคลื่อนไหวไปตามอาการนั้น กำหนดรู้นิ่งไว้อย่างนั้น ระลึกอยู่ที่ใจ ใจ ก็หมายถึง ผู้รู้ เมื่อสติกับใจบังคับกันแนบนิ่งดีแล้ว จิตก็จะรวมสนิท
เมื่อเรานั่งกำหนดแล้ว ขณะที่เรารู้สึกเบาเนื้อเบากาย ก็ให้เรานิ่งไว้อยู่กับผู้รู้คำบริกรรมต่างๆ ก็ให้เลิกบริกรรม ให้เอาแต่สตินิ่งไว้ ให้ระลึกแต่ผู้รู้เท่านั้น
ตามธรรมดาสติมักจะส่งไปนอก ชอบเล่นอารมณ์สังขารที่ปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นคิดดี คิดร้าย คิดไมดีไม่ร้าย เราจะต้องพยายามฝึกหัดละวางอารมณ์เหล่านี้ อย่าให้จิตส่งออกไปภายนอก ให้สติอยู่ที่ผู้รู้เท่านั้น
เมื่อเรานั่งสมาธิภาวนา เรากำหนดคำบริกรรมใดๆ ก็ตาม ถ้าเราเผลอจากคำบริกรรมนั้น เมื่อเรารู้สึกว่าเราเผลอไปรับรู้อารมณ์ภายนอก ก็ให้เรารีบกลับมาบริกรรมอย่างเดิมตามที่เราเคยปฏิบัติมาได้

จิตจะรวมได้หรือสมาธิจะเกิดนั้น จะต้องปราบนิวรณธรรมทั้ง ๕ เสียก่อน คือ
๑. กามฉันท์ ความพอใจยินดีในความสุข
๒. พยาบาท ความอาฆาต ความโกรธ
๓. ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน
๔. อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งช่านรำคาญ ความสงสัย
๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในเรื่องบาปเรื่องบุญ
ดังได้แสดงมาก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา เอวัง