อภิญญา

อภิญญา

๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๕

เมื่อได้ฌานแล้ว บางครั้งก็จะได้ถึงขั้นอภิญญาซึ่งเป็นความรู้พิเศษ ผู้ที่เวลาปฏิบัติเกิดนิมิตมากๆ มักจะได้อภิญญา เมื่อมีเหตุการณ์ใดๆ ที่จะเกิดขึ้น ท่านมักจะรู้ส่วงหน้าก่อนเสมอ เช่น จะรู้ล่วงหน้าว่าวันนี้จะมีผู้มาหา เป็นต้น

อภิญญาเกิดจากฌานสมาธิ อภิญญานี้ไม่แน่นอน มักจะเสื่อมได้ หรืออาจจะเป็นวิปลาส จะพูดไม่ตรงต่อธรรมวินัย เมื่อผู้ที่ได้อภิญญาแล้ว ถ้าไม่รู้ทัน ก็จะทำให้เกิดความหลงได้

ในสายของหลวงปู่มั่นนี้ ท่านที่ได้อภิญญาที่สำคัญคือ ท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร ท่านสามารถที่จะพูดกันได้กับหลวงปู่มั่นเวลาท่านไปเยี่ยมกัน ท่านมักถามเป็นปัญหา

ว่า “เมื่อคืนรับแขกมากไหม” คำว่า “แขก” ในที่นี้ ก็หมายถึงพวกเทพยดาในสวรรค์ชั้นต่างๆ ตลอดจนถึงพระอินทร์ที่ลงมากราบมาเยี่ยม

สำหรับท่านพระอาจารย์ฝัน ท่านประสบเหตุมามาก ท่านเคยเล่าให้ฟังหลายเรื่อง ถ้าเขียนเป็นหนังสือก็จะได้เล่มหนาทีเดียว

ท่านอาจารย์อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม ท่านเคยอยู่กับท่านอาจารย์ฝั้นหลายปี ท่านเคยเล่าให้อาตมาฟังว่า มีนกฮูกตัวหนึ่งมันร้องกุ๊กๆ กู้ฮูก จับอยู่ที่ต้นไม้ใกลักับที่พักของท่าน เมื่อได้เวลาประมาณสองทุ่ม มันก็ร้องอยู่อย่างนั้นทุกคืน

ท่านมีฌาน ท่านเลยเพ่งนกฮูก ปรากฎว่าพอท่านเพ่งไปเท่านั้นแหละ ขนของนกฮูกก็หลุดกระจุยเลย และก็มีเสียงตกลงดิน ท่านก็คิดว่ามันจะเป็นหรือตายอย่างไรหนอ ท่านกลัวจะเป็นโทษ ท่านเดินไปค้นหาซากของมันก็ไม่ปรากฏเห็น

หลวงปูมั่น ท่นก็ประสบเหตุทำนองนี้เหมือนกัน คือมีบ่างใหญ่ตัวหนึ่งมาร้องอยู่บนต้นไม้ใกล้ๆ กับท่านทุกวัน พอท่านเพ่งไปที่บ่าง บ่างก็ตกดินเลย แต่ปรากฏว่าไม่ตาย หลวงปู่มั่นท่านว่า หลังจากที่ผมเพ่งวันนั้นแล้ว ไม่ปรากฎเห็นบ่างตัวนั้นมาร้องอีก แสดงว่านกหรือบ่างอาจจะกระเทือนจิตใจของมันเหมือนกัน

พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด ก็เป็นอีกองค์หนึ่งที่แตกฉานในธัมมปฏิสัมภิทา แตกฉานในการพูด การแสดงธรรม การแต่งหนังสือ โดยเฉพาะการแต่งหนังสือนั้น ท่านได้เขียนเกี่ยวกับประวัติของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ไว้ได้อย่างละเอียดมาก ตลอดทั้งหนังสือที่เกี่ยวกับธรรมปฏิบัติอีกหลายเล่ม

อย่าง ท่านเจ้าคุณนิโรธฯ (อาจารย์เทสก์ เทสรังสี) ก็เคยได้ไปกราบเยี่ยมท่าน พักอยู่กับทำนครั้งละหลายๆ วัน ท่านเคยให้นโยบายเทศน์ให้ฟัง แต่ท่านไม่ได้เล่าเกี่ยวกับเรื่องอภิญญา โดยมากท่านมักจะปกปิด ไม่เล่าให้ฟังทั่วๆ ไป

ท่านหลวงปู่มั่นหรือท่านอาจารย์ฝันก็เช่นเดียวกัน ท่านก็จะพูดให้ผู้ที่ไว้ใจได้ฟังเท่านั้น ในขณะที่มีพระเณรญาติโยมมากๆ ท่นก็จะไม่พูด เพราะท่านว่า ถ้าพูดไปเขาไม่เชื่อ เกรงว่าเขาจะลบหลู่ดูหมิ่น จะเป็นบาปเป็นกรรมแก่พวกเขา

หลวงปู่มั่นท่านจะหลบหลีกหมู่ (เพื่อน) ไปธุดงค์องค์เดียวหรือสองสามองค์เป็นอย่างมาก บรรดาหมู่คณะหรือผู้ปฏิบัติเกิดความรู้ต่างๆ หรือมีปัญหาที่จะต้องกราบเรียนถาม ก็จะต้องออกตามหาท่านเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตามท่านพบเสียด้วย

บุคคลที่มีปัญญาแก่กล้า ไตรลักษณ์จะเกิดในปฐมฌาน หรือทุติยฌาน ส่วนบุคคลที่มีบัญญาชนาดกลาง ไตรลักษณ์จะเกิดเมื่อสำเร็จฌาน ๔ แล้ว

บุคคลใดที่สามารถสำเร็จฌาน ๔ ก็มักจะไม่เกิดความกำหนัด หรือที่เรียกว่า “จิตตกกระแสธรรม” มันจะเป็นของมันเอง เรียกว่าเป็นผลของฌานสมาธิก็ได้

ไตรลักษณ์ นี้จะเป็นเครื่องตัดสินถูกหรือผิด จะเป็นสัมมาสมาธิหรือมิจฉาสมาธิ

ถึงแม้ว่าบุคคลใดจะทำสมาธิได้ดี จะได้รับความสุขขนาดไหนก็ตาม หรือจะได้อภิญญาเพียงใดก็ตาม ถ้าไตรลักษณญาณยังไม่เกิดแล้ว ก็ยังนับว่าเป็นมิจฉาสมาธิเป็นสมาธิที่ยังผิด ยังอยู่ในวงเขตที่ผิด

เมื่อพิจารณาขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ เห็นเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว จนเกิดญาณความรู้พิเศษ เมื่อเกิดความรู้พิเศษแล้ว วิปัสสนูกิเลสหรือวิปลาสก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อสิ่งใดหรือความรู้ใดเกิดขึ้น ก็จะเอาไตรลักษณ์เป็นเครื่องตัดสิน

การพิจารณา ให้ถือเอารู้รูปกายตามความเป็นจริง รู้เวทนาตามความเป็นจริง รู้จิตตามความเป็นจริง ให้ยึดถือความรู้นี้เป็นหลัก ความรู้อย่างอื่นไม่สำคัญ ถึงจะเกิดอภิญญารู้ในเหตุผลต่างๆ ครั้งแรกๆ ก็อาจเป็นจริง แต่ถ้าเรายึดถือในสิ่งเหล่านี้ต่อไปก็จะกลายเป็นเรื่องหลอกลวงเรา ท่านจึงห้ามไม่ให้ถือเอานิมิตเป็นสิ่งสำคัญ

ท่านจึงว่า ถ้าไตรลักษณญาณยังไม่เกิด ก็ยังเป็นมิจฉาสมาธิ ต้องทำการศึกษาและเร่งความเพียรยิ่งขึ้นไป

พระภิกษุรูปใด เด็ดเดี่ยว ชอบไปบำเพ็ญภาวนารูปเดียว มักจะได้อภิญญา รู้เหตุผลต่างๆ แม้แต่ในครั้งพุทธกาล พระภิกษุที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็ยังมีคุณสมบัติไม่เสมอเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น พระอรหันต์ที่สำเร็จอย่างแห้งแล้ง แสดงธรรมสอนผู้อื่นไม่ได้ ไม่มีปฏิภาณโวหาร แต่ก็สามารถสิ้นอาสวะกิเลส เรียกพระอรหันต์จำพวกนี้ว่า “สุกชวิปสฺสโก”

ถ้าพูดถึงความสุขของผู้ที่สิ้นอาสวะกิเลสแล้ว ก็เหมือนกันหมด มีความสุขความสบายเท่าเทียมกัน เป็นพระนิพพานเหมือนกันหมด การที่ท่านผู้ใดจะได้วิชชา ๓ อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทา ๔ นั้นก็จะต้องขึ้นอยู่กับบุญวาสนาของแต่ละท่านด้วย

ผู้ที่ปฏิบัติเพียง ๒-๓ ครั้ง ก็สามารถที่ทำจิตให้สงบได้ มีความรู้บาป บุญ คุณ โทษ ทำให้เพิ่มความเชื่อความเลื่อมใส จิตใจเยือกเย็นได้รับความสุข นี่ก็เป็นเพราะอำนาจบารมีเก่าที่ได้สะสมมา

สิ่งที่ควรตั้งความปรารถนาให้เป็นอุปนิสัย คือ ทาน ศีล ภาวนา ถ้าบุคคลใดมีอุปนิสัยครบทั้ง ๓ ประการนี้แล้ว หากเกิดภพชาติใดๆ ได้พบพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง หรือสาวกของพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งแล้ว เมื่อได้ยินได้ฟังพระธรรมเทศนาก็มักจะได้บรรลุผลในการฟัง

ในครั้งพุทธกาลมีท่านที่สำเร็จผลจากการฟัง เป็นพระโสดาบันบ้าง พระสกทาคามีบ้างพระอนาคามีบ้าง แสดงว่าท่านเหล่านี้เคยบำเพ็ญสร้างสมอบรมมาตั้งแต่หนึ่งชาติขึ้นไป ส่วนผู้ที่ปรารถนาใหญ่ เช่น ปรารถาเป็นอัครสาวก ต้องเกิดเป็นมนุษย์เพื่อที่จะสร้างสมบารมีถึงแสนซาติ อย่างพระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ถ้าได้บำเพ็ญติดต่อกัน ๒-๓ ชาติ ก็จะเป็นอุปนิสัย ถ้าได้มีโอกาสพบครูบาอาจารย์ก็จะทำสมาธิได้ง่ายหรือเจริญฌานได้ง่าย

ขอให้พวกท่านจงทำกัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็สามารถปฏิบัติได้เหมือนกัน เมื่อตั้งใจทำแล้ว จะรู้ผลเสียเลยก็ไม่มี อย่างต่ำก็เป็นการเพิ่มบุญวาสนาบารมีของเราให้แก่กล้าขึ้น

พูดมาก็เห็นสมควรแก่เวลา เอวัง

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *